
ไฟไหม้ ควันพิษ อันตรายจากการเผาไหม้ของสารเคมี
โรคอันตรายจากควันพิษ ที่มาจากการเผาไหม้ของสารเคมี
ควันพิษ อาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ดังนี้
- กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย
- กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล และมองภาพไม่ค่อยชัด
กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากควันพิษที่เกิดจากสารเคมี
- กลุ่มเด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น
กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
วิธีดูแลตัวเองเมื่ออยู่ในแหล่งใกล้ควันพิษจากสารเคมี
ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีมลพิษในอากาศสูง โดยมีค่าสารพิษเกินกว่าปกติหลายเท่า ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก หากยังอยู่ในบริเวณที่มีการระบุค่ามลพิษทางอากาศสูง ควรปฏิบัติดังนี้
- ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าอากาศร้อนให้ใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเพื่อบรรเทา พร้อมด้วยเครื่องฟอกอากาศ (ถ้ามี) อย่าเปิดประตูหรือหน้าต่าง
- งดกิจกรรมภายนอกอาคาร นอกสถานที่ หรือหากจำเป็นควรใส่หน้ากากชนิดมีไส้กรองหรืออย่างน้อยใช้หน้ากาก N 95 ใส่หน้ากากว่ายน้ำ เฟซชิลด์ หรือแว่นตา เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองตา สวมหมวก ถุงมือ ปลอกแขน หรือชุดที่สามารถปกป้องผิวหนังได้ พร้อมลดเวลาการทำกิจกรรมนอกสถานที่ให้มากที่สุด
- ถ้ามีโรคประจำตัว หรือคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวให้แจ้งให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- ถ้ามีอาการแสบตา แสบคอ แสบจมูกมาก หรือ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์
- ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด
- ศึกษาเส้นทางและพาหนะที่ใกล้ที่สุดที่จะไปหาความช่วยเหลือได้
- มีเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน
- ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
- หลังเกิดเหตุการณ์ให้มารับการตรวจสุขภาพ และติดตามการตรวจสุขภาพเป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อสัมผัสควันพิษ
สำหรับหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับควันพิษ ดังนี้
- หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมี โดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน
- หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- หากการสูดดมควันพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และทำการประเมินการหายใจ หรือการเต้นของหัวใจ
- ถ้าชีพจรอ่อน ให้ทำการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต หรือ CPR และโทร.แจ้งบอร์สายด่วนศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากควันพิษ สวมใส่หน้ากากที่มีไส้กรองทำด้วยชาร์โคลเป็นวัสดุดูดซับ (CHACOAL MASK) และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอหากมีการประกาศอพยพเพิ่มเติม
CR.กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่
โรงพยาบาลพิษณุเวช
โทร 1208 หรือ 055-90-9000