มาทำความรู้จักการวิ่งสายพาน เช็คดูว่าหัวใจของคุณแข็งแรงแค่ไหน?

การวิ่งสายพานทำให้ทราบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ เมื่อสูงอายุมักพบว่าขาดสารอาหารบางอย่างเช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ซึ่งเป็น แร่ธาตุที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูก นักกีฬา ควรตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือวิ่งสายพาน เพื่อจะได้ทราบว่าเราควรออกกำลังกายได้มากน้อยแค่ไหน
ทำไมต้องวิ่งสายพาน?
อาจมีคนเคยสงสัยว่าทำไมการตรวจสุขภาพ ถึงต้องมีการวิ่งสายพาน วิ่งไปทำไม แล้วใครต้องตรวจบ้าง ผลการตรวจบอกอะไรเราบ้าง แล้วการวิ่งสายพานจำเป็นอย่างไร
การตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย Exercise Stress Test
หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า วิ่งสายพาน คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อตรวจสอบว่าขณะที่ร่างกายต้องออกแรงอย่างหนักอยู่นั้น กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะประเมินสมรรถภาพของหัวใจได้ สามารถคัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในเบื้องต้น และยังสามารถตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังสามารถประเมินสมรรถภาพของร่างกายได้ ซึ่งการตรวจแบบนี้จะให้ผลที่ละเอียดกว่าการตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพียงอย่างเดียว
ทำไมต้องตรวจสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย
บางครั้งเราก็คาดไม่ถึง หรือไม่ได้สนใจ และคิดว่าตัวเองแข็งแรงดีคงไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ไม่เห็นจำเป็นต้องตรวจ แต่ด้วยข่าวที่มีนักกีฬาน๊อคไปในระหว่างแข่งขัน นักปั่นจักรยานหมดสติ หัวใจวายในสนามปั่น เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำให้เราหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้น การรอให้เกิดอาการก่อน ก็อาจจะสายเกินไป

ใครควรเข้ารับการตรวจ
- ผู้ที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อน โดยไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากหัวใจ หรืออวัยวะอื่น เมื่อวิ่งสายพานแล้ว เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้น พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงของกราฟหัวใจ การตรวจนี้จะช่วยบอกได้ว่าเกิดจากการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือไม่
- นักกีฬา การวิ่งสายพานจะช่วยให้เราทราบว่าควรจะออกกำลังกายได้มากน้อยแค่ไหน ระดับการเต้นสูงสุดของหัวใจเท่าไรจึงจะปลอดภัย
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง
- ชายอายุ > 45 ปี, หญิงอายุ > 55 ปี
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ
- เป็นเบาหวาน
- ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง LDL > 130 mg/dl หรือระดับไขมัน HDL < 40 mg/dl
- ผู้ที่สูบบุหรี่
จะมาวิ่งสายพาน ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
- พักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนการตรวจ
- ควรงดอาหาร และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อกโกแลต น้ำอัดลม ชา กาแฟ งดสูบบุหรี่ ก่อนการตรวจ อย่างน้อย 3 ชม. สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
- ถ้ามียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- สวมรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย ที่สามารถเดินหรือวิ่งได้โดยไม่หลุด
- เสื้อผ้าใส่สบาย ควรเป็นชุดเสื้อ – กางเกง หรือใช้ชุดที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
ขั้นตอนการตรวจง่ายๆ
- การวิ่งสายพาน เป็นการตรวจที่ไม่เจ็บ แค่ต้องออกกำลังวิ่งบนลู่วิ่ง โดยมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อยู่ด้วยตลอดเวลา การตรวจก็มีขั้นตอนดังนี้
- เจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์ เพื่อตรวจดูการทำงานของหัวใจ และความดันโลหิตขณะวิ่ง
- ผู้รับการทดสอบเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ โดยที่ความเร็วก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้น และระดับความลาดชันก็สูงขึ้น
- หากรู้สึกเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือเดิน/วิ่งไม่ไหว สามารถหยุดได้ตลอดเวลาที่ต้องการ
- ในระหว่างการทดสอบ จะมีการวัดระดับการเต้นของหัวใจ การหายใจ ความดันโลหิต คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และระดับความเหนื่อย
วิ่งบนเครื่องนานแค่ไหน จะหยุดวิ่งได้เมื่อไร
แพทย์จะหยุดทำการทดสอบเมื่อพบสิ่งต่อไปนี้
- ผลการทดสอบเป็นบวกตามเกณฑ์การแปลผลมาตรฐาน = มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- หัวใจเต้นถึง 85% ของอัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจตามอายุ (อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจ= 220- อายุ) หรือในบางราย แพทย์อาจเลือกทำการทดสอบให้หัวใจเต้น 70%ของอัตรา การเต้นสูงสุดของหัวใจ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นรายๆไป
- ผู้เข้ารับการทดสอบไม่สามารถออกกำลังต่อได้ เช่น ปวดเข่า หรือมีภาวะที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ทดสอบ เช่น ความดันโลหิตตก มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
ข้อควรระวัง
- ถ้าขณะตรวจรู้สึกผิดปกติ ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที
- แน่นอึดอัดบริเวณหน้าอก
- เหนื่อยมากผิดปกติ หายใจไม่ออก
- ปวดขา เข่า
- มึนงง เวียนศีรษะ
ผลการตรวจบอกอะไร
- ถ้าผลการทดสอบเป็น บวก หมายถึง มีเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ควรได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม เช่น การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ
- ถ้าผลการทดสอบเป็น ลบ แสดงว่าไม่มีหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบแต่ไม่รุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำต่อไป
- ถ้าผลการทดสอบไม่ชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาส่งผู้ป่วยไปตรวจเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจโดยวิธีคอมพิวเตอร์ (CTA Coronary Artery)