ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากคนที่คุณรักหรือตัวคุณเป็นโรคเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย สมองหยุดชะงัก
ภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ซึ่งแบ่งได้ 2 กลุ่มหลัก
- กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่สมองขาดเลือด ประมาณ 80-90% เป็นภาวะที่ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือภาวะหลอดเลือดตีบ
- กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีเลือดออกในสมอง ประมาณ 15-20% เป็นภาวะที่มีเลือดออกในสมอง ซึ่งเกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า หลอดเลือดฝอยฉีกขาด และอีกประมาณ 5% เป็นลักษณะของหลอดเลือดโป่งพองแล้วแตก ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตค่อนข้างสูง
โรคหรือภาวะหลอดเลือดในสมองผิดปกติ พบได้ทุกช่วงวัยตั้งแต่อายุน้อย วัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงอายุ
รูปแบบของการผิดปกติ มีความแตกต่างกันหลายรูปแบบดังนี้
- ในกลุ่มคนอายุน้อย อาจเป็นลักษณะของความผิดปกติแต่กำเนิด ของระดับพันธุกรรมที่ทำให้หลอดเลือดในสมองผิดปกติ
- ส่วนในวัยกลางคน มักจะเกิดจากการใช้ชีวิต สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่สาเหตุหลัก ๆ จะมาจากการสูบบุหรี่ นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องของสารเคมีหรือยาที่ใช้
- ในผู้สูงอายุ เป็นลักษณะของความเสื่อม คือ ผนังหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นไป หรือมีภาวะของโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเลือด ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในวัยกลางคน และวัยผู้สูงอายุ
สัญญาณเตือนภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน
- อาการชาครึ่งซีก หน้าชา ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง
- พูดลำบาก ฟังไม่เข้าใจ
- เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ
- ปวดศีรษะรุนแรง
โรคหลอดเลือดสมองจะส่งผลอะไรกับสมองบ้าง?
สมองซีกซ้าย | สมองซีกขวา |
---|---|
อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา | อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย |
ปัญหาการพูด การเข้าใจ ภาษาและการกลืน | สูญเสียความสามารถในการประเมินขนาดและประมาณระยะทาง |
สูญเสียการจัดการ การระวังตัว ปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง | สูญเสียการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ โดยไม่วางแผน |
เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง | เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง |
ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อสมองน้อย (Cerebellum) จะทำให้สูญเสียการทรงตัว เวียนศีรษะ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน เกิดความเสียหายต่อก้านสมอง ทำให้การหายใจหรือการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือหมดสติ ซึ่งสามารถประเมินความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้จากระดับการสูญเสียหน้าที่การทำงานของร่างกาย
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง ว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
- การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่ขาดเลือดเฉียบพลัน ‘ภายใน’ 4.5 ชั่วโมงแรก
หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษา คือ ทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง
- การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่ขาดเลือดเฉียบพลัน ‘หลัง’ 4.5 ชั่วโมงแรก
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื้อสมองที่ขาดเลือดจะตายทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด การเปิดหลอดเลือดโดยยาละลายลิ่มเลือด ไม่ช่วยให้เนื้อสมองฟื้นตัว แต่อาจทำให้เกิดโอกาสเลือดออกในสมองเพิ่มขึ้นได้ จึงห้ามใช้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ การรักษาด้วยยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ ยาต้านเกล็ดเลือด ยาป้องกันเลือดแข็งตัว (Anticoagulant) ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมัน การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
3.การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด
คือ การควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้น ในกรณีที่ความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลง

การป้องกันภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง วิธีการป้องกันที่ดี ง่ายที่สุดและลงทุนน้อย คือ
- งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์
- ควบคุมโรคพื้นฐาน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ภาวะโภชนาการเกิน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่ม ที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น ยาที่กระตุ้นให้กระปรี้กระเปร่า หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว และยาคุมกำเนิด
- วิตามินบางชนิด อาจจะทำให้เกิดภาวะผิดปกติของหลอดเลือดในสมองได้