Header

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's Palsy)

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell's Palsy

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell's Palsy เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มีการอักเสบหรือได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยที่เป็นคนร่างกายแข็งแรงดีมาก่อน มักเกิดในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย นอกจากนี้ยังพบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือต่อมน้ำเหลือง

สาเหตุของโรค

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell's Palsy มีหลักฐานการตรวจพบว่ามีการอักเสบและบวมของตัวเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ส่วนหนึ่งพบหลักฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือ เริม งูสวัด ไข้หวัดใหญ่ เอชไอวี และไวรัสตัวอื่น ๆ 

อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หนังตาและมุมปากตก หลับตาไม่สนิท ยักคิ้วไม่ได้ น้ำไหลออกจากมุมปากเวลาดื่มน้ำ โดยอาการเป็นมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละราย นอกจากนี้อาจพบอาการเสียงดังในหู สูญเสียการรับรส อาการจะปรากฏชัดเจนใน 1-2 วัน ส่วนใหญ่จะเริ่มดีขึ้นใน 3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการครั้งแรก และค่อย ๆ หายสนิทในเวลา 3-6 เดือน

 

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกต่างจากโรคอัมพฤกษ์อัมพาตอย่างไร

  • โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นความผิดปกติของตัวเส้นประสาทเอง ไม่ได้อยู่ในเนื้อสมอง ส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก
  • โรคหลอดเลือดสมอง จะเป็นความผิดปกติภายในเนื้อสมอง อาจมีอาการหน้าเบี้ยว แต่ยังสามารถยักคิ้วและหลับตาได้สนิทในด้านเดียวกับที่มีมุมปากตก มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรงหรือชาที่แขนขาครึ่งซีก พูดไม่ชัด เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด ก็จะสามารถแยกได้ว่าเป็นโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกหรือโรคหลอดเลือดสมอง

 

วิธีการรักษา

  • การใช้ยา แพทย์จะให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อลดการบวมและการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว อาจให้ยาต้านไวรัสร่วมด้วยในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือสงสัยว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเริมหรืองูสวัด
  • ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาใน 2-3 วันแรกหลังจากเริ่มมีอาการ จะช่วยให้การรักษาอาการให้หายเร็วขึ้น

กายภาพบำบัด โดยการออกกำลังกายยกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น ปิดตาแน่น ทำปากจู๋ ยักคิ้ว แก้มป่อง ยิงฟัน หรือนวดหน้าเพื่อบริหารกล้ามเนื้อไม่ให้ฝ่อลีบ

 

รักษาหายหรือไม่?

ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นใน 2-3 อาทิตย์แรก และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะหายสนิท แต่ถ้าได้รับการรักษาก็จะช่วยให้หายเร็วขึ้น ในผู้ป่วยที่เริ่มฟื้นตัวได้ภายใน 3 สัปดาห์แรก พบว่ามีโอกาสหายสนิทได้สูง
ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือ เกิดจากไวรัสงูสวัด มักจะไม่หายสนิท โอกาสการกลับเป็นซ้ำอีกพบน้อยมาก หากกลับเป็นซ้ำหลายครั้ง ควรไปพบแพทย์ระบบประสาทเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติม

 

ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่มีอาการรุนแรง หลังจากที่เริ่มมีการฟื้นตัวแล้ว อาจมีการงอกผิดปกติของเส้นประสาท ทำให้เกิดภาวะแทรกช้อน 

  • อาการใบหน้ากระตุกครึ่งซีก โดยกระตุกที่มุมปากและตา ทำให้ตาหรี่ลงและปากเบี้ยว มุมปากจะถูกดึงรั้งขึ้นมาเองเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีความกังวล อดนอนหรือเครียด
  • อาการตาหรี่ลงหรือตาปิดเวลายิ้มหรือพูด จากกล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณมุมปากและรอบตาทำงานไปพร้อม ๆ กันทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของใบหน้า
  • อาการตาแห้งจากการหลับตาไม่สนิทหรือไม่มีน้ำตา จำเป็นต้องหยอดน้ำตาเทียมเพื่อลดอาการตาแห้งและระคายเคือง ซึ่งอาจทำให้กระจกตาเป็นแผลได้
  • อาการน้ำตาไหล ขณะรับประทานอาหารหรือเวลายิ้ม

 

ข้อควรปฏิบัติ

  • รับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย วันละ 6-8 ชั่วโมง
  • ทำกายภาพฟื้นฟูกล้ามเนื้อใบหน้า จนกว่าใบหน้าจะกลับเป็นปกติ ควรทำหน้ากระจกเพื่อสังเกตติดตามอาการของตนเอง และให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของใบหน้า
  • นวดใบหน้าด้านที่มีอาการเบา ๆ สม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาท
     


แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์