Header

ภาวะสมองเสื่อม

สมองเสื่อม

สมองเสื่อม คือ ภาวะที่มีการสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบุคลิกภาพ โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม

10 สัญญาณเตือน บ่งบอกความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม

  1. สูญเสียความจำระยะสั้น หลงลืมจนมีผลกระทบต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน ถามย้ำซ้ำไปมา ลืมว่าเมื่อครู่พูดอะไร ลืมนัดหมายสำคัญ
  2. ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำไม่ได้ เช่น ลืมเครื่องปรุงอาหารที่เคยทำประจำ หรือลืมว่าต้องใส่อะไรก่อนหลัง
  3. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ใช้คำผิด พูดไม่รู้เรื่อง เรียงลำดับคำผิด คิดไม่ออกว่าใช้คำอะไร
  4. สับสนเรื่องเวลา สถานที่และทิศทาง หลงทิศทาง ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ที่คุ้นเคย เช่น มักหลงทางกลับบ้านไม่ถูก หาทางเข้าห้องน้ำในบ้านไม่พบ
  5. ดุลยพินิจบกพร่อง วิจารณญาณไม่ดี เช่น ตัดสินใจและแยกความแตกต่างเรื่องระยะทาง สีสัญญาณไฟจราจรไม่ได้ จนอาจเป็นปัญหาด้านการขับรถ
  6. สติปัญญาด้อยลง คิดหรือทำเรื่องซับซ้อนไม่ได้ เช่น เคยคิดเลขได้ แต่กลับคิดเลขง่าย ๆ ไม่ได้
  7. วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอารีโมทโทรทัศน์ไปไว้ในตู้เย็น เก็บเสื้อผ้าในตู้กับข้าว
  8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว เช่น เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวโกรธแล้วก็นิ่ง เฉยเมย ไม่มีอารมณ์ ไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งรอบตัว
  9. บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีพฤติกรรมที่แต่ก่อนไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น จากที่เป็นคนเงียบ ๆ กลายเป็นคนช่างพูด แต่งตัวผิดกาละเทศะ ใส่เสื้อหนาวทั้งที่อากาศร้อนจัด ใส่กางเกงในทับกางเกงขายาว ใส่ยกทรงทับเสื้อตัวนอก
  10. ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนเฉื่อย ๆ ซึม ไม่กระตือรือร้น เช่น นั่งเหม่อลอยเป็นชั่วโมง

อาการของสมองเสื่อม
          ระยะแรก (ภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อย) มักจะจำเรื่องบางอย่างไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งพูดหรือการกระทำที่เพิ่งจะทำไป แต่ความจำที่เป็นระยะก่อน เช่น ความจำในช่วงวัยหนุ่มสาวจะจำได้ดี จะเล่าเรื่องเก่า ๆ ซ้ำ แต่ถ้าให้เล่าหลายครั้งรายละเอียดจะบิดเบือน มักจะพูดหรือถามซ้ำ ๆ โทรศัพท์ไปหาลูกวันละหลาย ๆ ครั้งเพื่อบอกเรื่องเดิม ถ้ามีคนเอาของมาให้ก็จะบอกไม่ได้ว่าใครเอามาให้ นอกจากนี้จะมีปัญหาในการใช้ภาษา เรียกสิ่งของที่เป็นชื่อเฉพาะได้ลำบาก อาจจะไม่สามารถเรียกนาฬิกาได้ถูกต้อง แต่รู้ว่านาฬิกาเอาไว้ใช้ดูเวลา สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ทำได้ช้าลงกว่าเดิม ยิ่งของที่ใช้หรือรู้จักน้อยจะยิ่งพูดไม่ถูก อาจจะทิ้งสิ่งของไว้เลอะเทอะ

สิ่งที่ควรทำในระยะนี้

  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านความจำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา เพราะการได้รับการตรวจวินิจฉัยในระยะแรก อาจทำให้การดูแลต่าง ๆ ทำได้ดีกว่า
  • ใช้อุปกรณ์ช่วยจำ เช่น การจดบันทึก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยังสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง
  • เริ่มพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยความระมัดระวัง ในเรื่องที่ผู้ป่วยยังสามารถตัดสินใจได้เอง เช่น การตัดสินใจในการรักษาพยาบาล การจัดการทรัพย์สิน

ระยะที่ 2
          ผู้ป่วยมีอาการสับสนมากขึ้น ไม่สามารถปกปิดความผิดปกติของความจำได้ สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ความจำระยะสั้นผิดปกติ พูดซ้ำ ถามซ้ำ ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน การควบคุมการขับถ่าย การแต่งตัว การรับประทานอาหาร จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวัน

สิ่งที่ควรทำในระยะนี้

  • จัดการทรัพย์สิน พินัยกรรม และการตั้งผู้พิทักษ์การตัดสินใจ ในการรักษาพยาบาล โดยปรึกษากับทนายความหรือนักกฎหมาย
  • ผู้ป่วยเริ่มมีความไม่ปลอดภัยหากอยู่คนเดียว จำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องการกินอาหาร การกินยา การดูแลความปลอดภัย และการเข้าสังคม
  • เฝ้าระวังดูความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น การทำอาหาร การใช้จ่าย
  • จัดกิจกรรมที่มีการพัฒนาสมอง เช่น เล่นเกมส์ เล่นหมากกระดาน
  • พาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม เช่น ร้องเพลง เต้นรำ
  • เริ่มพิจารณาการดูแลระยะยาวที่เหมาะสมกับผู้ป่วย
  • จัดการกับความเครียดของผู้ดูแล

ระยะที่ 3
          ผู้ป่วยจะสูญเสียความจำระยะยาว เช่น จำเหตุการณ์สมัยตนยังเด็กไม่ได้ จำญาติใกล้ชิดไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการทรงตัว การยืน การเดิน และบางรายอาจมีพฤติกรรมเดินไปเดินมาไร้จุดหมาย หรือหลงออกนอกบ้านแล้วจำทางกลับบ้านไม่ได้ ในระยะนี้ผู้ป่วยจะต้องพึ่งพาผู้ดูแลในทุก ๆ ด้านของชีวิต

สิ่งที่ควรทำในระยะนี้

  • ผู้ป่วยมีปัญหาในการสื่อสาร ผู้ดูแลต้องสังเกต เรียนรู้ถึงการแสดงออกของผู้ป่วยว่าต้องการสื่อถึงอะไร เช่น หิว ปวด
  • เรียนรู้การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เช่น การทำแผล การให้อาหาร
  • จัดการความเครียดของผู้ดูแล

 

สาเหตุของสมองเสื่อม
          สมองเสื่อม เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ซึ่งภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุด คือ อัลไซเมอร์ และพบรองลงมา คือ โรคหลอดเลือดสมองประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยสมองเสื่อม เกิดจากภาวะสมองเสื่อมที่อาจแก้ไขได้ ได้แก่ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ขาดวิตามินบี 12 ภาวะซึมเศร้า โพรงสมองคั่งน้ำ แต่เมื่อแก้ไขสาเหตุแล้วอาจไม่ได้มีความจำดีขึ้นทุกรายเสมอไป

 

สาเหตุของสมองเสื่อมที่พบบ่อย

  1. การเสื่อมสลายของเซลล์สมอง เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง พบการตีบตันหรือแตกของหลอดเลือดในสมองทำให้เลือดไปเลี้ยงลดลง ถ้าลดลงมากจะส่งผลให้เนื้อสมองตาย
  2. การขาดวิตามินบี 1 หรือวิตามินบี 12 การขาดวิตามินบี 1 มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เพราะคนกลุ่มนี้มักดื่มเหล้าจนเมาและไม่กินอาหารที่เพียงพอ ส่วนการขาดวิตามิน บี 12 มักพบในผู้ป่วยที่กินอาหารมังสวิรัติเป็นเวลานาน เนื่องจากวิตามินบี 12 มีมากในน้ำปลาหรือเนื้อสัตว์ ดังนั้น คนที่กินอาหารมังสวิรัติควรได้รับวิตามินเสริมเป็นบางครั้ง
  3. การติดเชื้อในสมอง เช่น ซิฟิลิส เอดส์
  4. การแปรปรวนของระบบเมตาโบลิกในร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป การทำงานของตับหรือไตผิดปกติทำให้เกิดของเสียคั่งในร่างกาย ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ ถ้าเป็นภาวะนี้อยู่นาน ๆ จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสสมองเสื่อมได้
  5. การบาดเจ็บที่ศีรษะบ่อย ๆ เช่น นักมวยหรือนักกีฬา บางประเภทที่มีแรงกระทำต่อศีรษะ
  6. เนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะเนื้องอกที่เกิดจากด้านหน้าของสมอง ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่ แขนขาไม่มีแรง มองเห็นภาพซ้อน มีความดันในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น เช่น อาเจียน ปวดศีรษะ และยังมีผลให้บุคลิกภาพ ความจำ การตัดสินใจเปลี่ยนแปลง
  7. ช่องในสมองขยายใหญ่จากน้ำเลี้ยงสมองคั่ง
  8. ยาหรือสารพิษต่าง ๆ ที่มีผลต่อการทำงานของสมอง

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม
เมื่อมีอาการน่าสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะดำเนินการตรวจดังนี้


•    ซักประวัติและตรวจร่างกาย ผู้ป่วยมักให้ประวัติไม่ได้ เนื่องจากหลงลืม ต้องซักประวัติจากญาติหรือผู้ดูแล โดยจะถามเรื่องอาการหลงลืม พฤติกรรม อารมณ์ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ยาที่ใช้ประจำ เริ่มมีอาการเมื่อใด เป็นต้น
•    ประเมินเบื้องต้นว่ามีอาการซึมเศร้าหรือไม่ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอาจความจำไม่ดี และเมื่อรักษาภาวะซึมเศร้าแล้วความจำจะดีขึ้น
•    ทดสอบความจำ โดยประเมินความจำที่มีความยาก ง่าย และใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยและระดับการศึกษาเดิมของผู้ป่วย
•    ตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจทำให้ความจำไม่ดี เช่น ไทรอยด์ทำงานน้อยไป เกลือแร่ผิดปกติ ขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด โรคซิฟิลิส
•    การตรวจอื่นๆ ซึ่งพิจารณาทำเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า


ภาวะสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ เหมือนกันหรือไม่ ?
          อัลไซเมอร์เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มอาการสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด คือ ประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความผิดปกติอย่างช้า ๆ เป็นปี ทำให้ผู้ใกล้ชิดบอกจุดเริ่มต้นของอาการไม่ชัดเจน โดยมากอาการที่เด่นชัดจะเป็นปัญหาเรื่องความจำและพฤติกรรม ที่สำคัญ คือ อาการผิดปกตินั้นจะต้องเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุของการเกิดโรคในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบแต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมอง จนทำให้สมองทำหน้าที่ลดลงและเหี่ยวไป ความผิดปกติเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรม แต่อาจถ่ายทอดในครอบครัวทางพันธุกรรมได้ในผู้ป่วยส่วนน้อยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ อายุที่มากขึ้น เพศ (พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย) ผู้ที่มีการศึกษาน้อยหรือใช้สมองน้อย พันธุกรรม และโรคทางร่างกายบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง

 

จะรู้อย่างไรว่าหลงลืมตามวัย (ขี้ลืม) หรือ อาการของภาวะสมองเสื่อม (หลงลืม)
          การจำแนกว่าเป็นการลืมตามวัย หรือ การหลงลืมจากภาวะสมองเสื่อมมีหลักง่าย ๆ  คือ หากจำได้ว่าลืมทำอะไร ถือเป็นการลืมธรรมดา แต่ถ้าจำไม่ได้เลยว่าเคยทำอะไรหรือลืมอะไร มักเป็นการลืมที่ผิดปกติไม่ธรรมดา อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมได้
ขี้ลืม ผู้ที่มีอาการขี้ลืมมักจะพอจำเหตุการณ์ได้เลา ๆ แต่จำรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่ได้ เช่น ลืมว่าวางแว่นตาไว้ที่ไหน ไม่แน่ใจว่าล็อคประตูบ้านแล้วหรือยัง
หลงลืม ในขณะที่ผู้ที่มีอาการหลงลืมจากสมองเสื่อมมักจะจำไม่ได้เลยว่ามีเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่าตนเองต้องใช้แว่นตา หรือจำไม่ได้เลยว่าบ้านตนเองอยู่ที่ใด โดยเฉพาะหากการลืมนั้นเป็นการลืมที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ลืมปิดเตาแก๊สบ่อยจนเกิดไฟไหม้ ควรสงสัยว่าไม่ใช่อาการขี้ลืมธรรมดา อาจมีภาวะสมองเสื่อมแล้ว จึงควรรีบไปพบแพทย์

 

สมองเสื่อมมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน
          เป็นการยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยจะมีชีวิตได้อีกนานเท่าไร ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อม และสุขภาพโดยส่วนรวมของผู้ป่วย ถ้าหากมีสุขภาพแข็งแรงดี อาการของโรคจะดำเนินไปอย่างช้า ๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จนถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล อาการสมองเสื่อมจะเลวลงอย่างมาก
ผู้ดูแลควรจะต้องดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ดังนี้

  • ให้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ มีสารอาหารครบถ้วน
  • ให้ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ เพื่อให้มีการทรงตัวที่ดี ลดโอกาสที่จะหกล้มได้ง่าย
  • ระมัดระวังอย่าให้เจ็บป่วยง่าย เช่น ไข้หวัด ท้องเสีย เป็นต้น
  • ระมัดระวังอย่าใช้ยาโดยไม่จำเป็น เพราะยาบางอย่างทำให้อาการสมองเสื่อมเร็วลง

 

ปัญหาในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมและวิธีการแก้ไข
          ผู้ดูแลและครอบครัวของผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมเพื่อจะได้เข้าใจผู้ป่วยได้ดี มีความอดทนและใจเย็นในการดูแลผู้ป่วย
ปัญหาหลักของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม
•    ปัญหาความจำ
          อาการหลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ ๆ และความสามารถในการจำปัจจุบันลดน้อยลงไปเรื่อย ๆการแก้ไข : ให้อยู่กับบุคคลหรือสถานที่คุ้นเคย ชักชวนทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทบทวนความจำ
•    ปัญหาทางอารมณ์
          ตื่นกลัว กังวล หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง ซึมเศร้าการแก้ไข : พูดให้กำลังใจ หากิจกรรมที่ชอบและคุ้นเคย พูดคุยให้ความสนใจ ใช้ยาช่วย จัดสภาพแวดล้อมที่สดชื่น ปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพกายและจิตของผู้ดูแลด้วย
•    ปัญหานอนไม่หลับ
          อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงวงจรการนอน สับสนเพราะการรับรู้เสื่อมการแก้ไข : เพิ่มกิจกรรมช่วงกลางวัน งดนอนกลางวัน เข้านอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงชา กาแฟ ให้ดื่มนมอุ่น ๆ หรือกินกล้วยก่อนนอน จัดสภาพเตียง ที่นอน ห้องนอน ให้เหมาะสม
•    ปัญหาทางพฤติกรรม
          ความจำ การรับรู้ การเรียนรู้แย่ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การแต่งตัว พฤติกรรมบางอย่างไม่เหมาะสม เช่น เดินออกจากบ้าน พูดซ้ำ ๆ ตะโกน วุ่นวาย ก้าวร้าว เดินหลงทาง หกล้ม เฉยเมย

การแก้ไข : ครอบครัว ผู้ดูแล และสังคม ต้องพยายามเข้าใจอาการเหล่านี้ ว่าผู้ป่วยต้องการอะไร เช่น รับฟัง ให้ผู้ป่วยอธิบายถึงเหตุผล เบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น ๆ สนใจแต่ไม่ใส่ใจ หากมี การตะโกนเสียงดังโดยไม่มีสาเหตุ และขอให้หยุดยาก ลองพยายามเรียกคนที่ผู้ป่วยรัก (แม้ว่าคนนั้นจะไม่อยู่)
•    ปัญหาเดินไปเดินมา
          เดินไปเดินมาบ่อย ๆ โดยไม่มีสาเหตุ
การแก้ไข : ให้หาสาเหตุว่าจากอะไร เช่น เบื่อ กังวล การรับรู้เสียไป แล้วบอกผู้ป่วยว่าอยู่ที่ไหน เวลาอะไร เสริมกิจกรรมให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย เดินเล่น ขจัดสาเหตุที่อาจกระตุ้น
•    ปัญหาอาการทางจิต
          หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ภาพหลอน
การแก้ไข : อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย พูดคุยทบทวนความจำ พูดคุยให้รู้สึกมั่นคงทางจิตใจ
•    ปัญหาการสื่อภาษา
          ใช้ภาษาหรือไวยากรณ์เพี้ยน ไม่สามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจ ไม่เข้าใจการสื่อสารของผู้อื่น การแปลภาพผิด
การแก้ไข : ตรวจตา หู ฟันปลอม (พูดไม่ชัด) ใช้ข้อความสั้น ๆ เข้าใจง่าย ใช้ภาษากาย ยิ้มแย้ม อดทน ตั้งใจฟังให้ละเอียด มีความช่างสังเกต

 

การเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
1.เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม
          เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิธีการดูแลทั้งเรื่องอาหารและสภาพแวดล้อม โดยหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมอ่าน หรือปรึกษาแพทย์ หรือเข้าอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้นเท่าใด จะทำให้สามารถหาวิธีดูแล และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2. ปรับสถานที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย

  • เก็บสิ่งของที่จะเป็นอันตรายทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ได้ง่าย เช่น กาต้มน้ำ ปลั๊กไฟ เตาแก๊ส
  • ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคง
  • ทำหน้าต่าง / ประตู ที่ยากต่อการเปิด
  • มีแสงสว่างเหมาะสม

3. เตรียมแผนสำรอง
          ในกรณีที่ผู้ดูแลมีภารกิจส่วนตัวจำเป็น เจ็บป่วย ทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งภาระทั้งหมดให้กับผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียว สมาชิกคนอื่นในครอบครัวต้องเข้ามาช่วยผลัดเปลี่ยนดูแลผู้ป่วยบ้าง เพื่อให้ผู้ดูแลหลักได้พักหรือมีเวลาเป็นของตนเองบ้าง
4.ดูแลตัวเอง
          การที่เราจะสามารถให้การดูแลผู้อื่นได้ดีขึ้น เราต้องสามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจก่อนเสมอ

 

สมองเสื่อมป้องกันได้หรือไม่
          แม้สาเหตุบางอย่างของภาวะสมองเสื่อมจะยังไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เช่น สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ที่เกิดจากพันธุกรรม แต่ก็พบว่าโดยรวมแล้ว การป้องกันภาวะสมองเสื่อมนั้นสามารถทำได้โดยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม
การป้องกันภาวะสมองเสื่อม

  • เลือกกินอาหารที่เหมาะสม กินให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงกินอาหารที่มีไขมันสูง
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ โดยไม่ให้ดัชนีมวลกายเกิน 25
  • หลีกเลี่ยงกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง
  • ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ในที่ ๆ มีควันบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า
  • การฝึกสมอง พยายามฝึกสมองให้คิดบ่อย ๆ เช่น อ่านและเขียนหนังสือบ่อย ๆ เล่นเกมส์ตอบปัญหา นับเลขถอยหลัง
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
  • พบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อย ๆ หากิจกรรมเพื่อคลายเครียด เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นจิตอาสาในโรงพยาบาล
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • ถ้ามีโรคประจำตัวต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ นอกจากกินยาตามคำสั่งแพทย์แล้ว ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อควบคุมอาการของโรคร่วมด้วย โดยเฉพาะโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง โดยเฉพาะการหกล้มในผู้สูงอายุ

 

สรุป
          สมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะปกติที่พบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นอาจจะมีอาการหลงลืมได้บ้าง ลืมแล้วจำได้ว่าลืมอะไร แต่อาการหลงลืมของคนที่มีภาวะสมองเสื่อมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญจะจำเหตุการณ์และเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย รวมทั้งสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไปด้วย เมื่ออาการมากขึ้นจะพูดบอกความต้องการหรือความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ ญาติหรือคนใกล้ชิดผู้สูงอายุ จะเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม หากสงสัยว่าผู้สูงอายุอาจมีภาวะสมองเสื่อมควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และต้องยอมรับว่าภาวะสมองเสื่อมส่วนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่บางสาเหตุสามารถรักษาหรือชะลอความเสื่อมได้ การรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการระยะแรกจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมาก ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่และลดภาระแก่ผู้ดูแลและครอบครัวเราทุกคนสามารถชะลอความเสื่อมของสมองได้ การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานสำคัญในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้การบริหารสมองเป็นประจำยังเป็นวิธีการช่วยป้องกันได้ดีด้วย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุสามารถบริหารสมองด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น การท่องบทสวดมนต์ การร้องเพลง นอกจากจะเป็นการฝึกความจำแล้ว เสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ จากการสวดมนต์หรือร้องเพลงยังทำให้สมองทำงานได้ดีด้วย รวมถึงทำให้เกิดสมาธิ การฝึกตัวเองเสมอ ๆ จะทำให้การลืมลดลง

แหล่งข้อมูล : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข



แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์