Header

โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุเกิดจากอะไร ?

โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุเกิดจากอะไร ?

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

          คือ ภาวะที่สมองหยุดทำงานเนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 5.5 ล้านราย สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 1,800 รายต่อประชากรแสนคน โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะแม้แต่ในโรงพยาบาลหรือระหว่างการรักษา

          โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองส่วนหนึ่งมักต้องสูญเสียการทำงานของร่างกาย เช่น พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว กลืนลำบาก เป็นต้น ซึ่งหากเข้ารับการรักษาได้รวดเร็ว จะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายเป็นปกติ ลดการเกิดความพิการและอัตราการตายได้ ปัจจุบันการรักษโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่มีอาการ ภายใน 4.5 ชั่วโมง โดยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (rt-PA) เป็นการรักษามาตรฐานที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน

          ผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองควรได้พบแพทย์โดยเร็วที่สุด เนื่องจากเซลล์สมองหากขาดเลือดเพียง 1 นาที จะมีเซลล์สมองตายประมาณ 1 ล้านเซลล์ การรักษาช้าจะทำให้บริเวณสมองที่ขาดเลือดขยายขนาดมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีความพิการมากขึ้น หรืออาจเสียชีวิตได้ "ยิ่งรักษาเร็วยิ่งได้ผลดี” โรคหลอดเลือดสมองเป็นภัยร้ายที่เกิดขึ้นกับใคร เมื่อไหร่ก็ได้ เราจำเป็นต้องคอยสังเกตอาการตนเอง และคนรอบข้าง หากมีความผิดปกติที่เสี่ยงจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งได้ 2 ประเภท

1. ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke)

          เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เนื่องจากมีลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือด จนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรือมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมองและขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง

2. ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke)

          เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้หลอดเลือดเกิดการโป่งพองและแตกออก เซลล์สมองขาดเลือด เนื้อสมองตาย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง มีหลายปัจจัย

          เมื่อมีอายุมากขึ้น หลอดเลือดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย โดยผนังชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่ไขมันและหินปูนมาเกาะ ทำให้บริเวณที่เลือดไหลผ่านแคบลงเรื่อย ๆ เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง พันธุกรรม เช่น ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การสูบบุหรี่ การผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ การผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดคอ หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ท้อง

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้ป่วยจะมีอาการทันที และมักเป็นครึ่งซีกของร่างกาย

รู้จักสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
    FAST อาการหรือสัญญาณเตือน โรคหลอดเลือดสมอง

  • F (Face) ใบหน้าชา หรืออ่อนแรง หน้าเบี้ยวมุมปากตกข้างหนึ่ง ตามัวเห็นภาพซ้อน
  • A (Arm) แขนหรือขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งยกแขนหรือขาไม่ขึ้น กำมือได้ลดลง ชาตามแขนขา หรือรู้สึกน้อยลง เดินเซ
  • S (Speech) พูดลำบาก พูดไม่ชัด มึนงงสับสน มีปัญหาในการพูด
  • T (Time) ให้รีบมาพบแพทย์ทันที หรือให้ทันภายใน 4.5 ชั่วโมง

*แม้ไม่แน่ใจก็ควรรีบพบแพทย์ทันที*

ที่มา : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ



  • การรักษาและควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การรักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • การลดอาหารที่มีไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ลดอาหารเค็ม และรับประทานผักผลไม้ให้มาก
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ และ งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางกลุ่ม ที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น ยาที่กระตุ้นให้กระปรี้กระเปร่า หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว แม้แต่ยาคุมกำเนิด
  • การป้องกันการกลับเป็นโรคเส้นเลือดสมองช้ำด้วยการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด

           UCEP คือ นโยบายรัฐบาล "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่" กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญากองทุน (กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล ไม่เป็นอุปสรรคและความเสี่ยงของการดูแลรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงหรือพ้นภาวะวิกฤต

6 อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่สามารถใช้สิทธิ UCEP คือ

  1. หมดสติไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
  4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  6. หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

          การวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที การรักษาโดยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (rt-PA) ภายใน 4.5 ชม. จะทำให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองบริเวณที่มีการขาดเลือดให้ฟื้นกลับมาได้เป็นปกติ ภายใน 4.5 ชั่วโมง การจับตัวกันของลิ่มเลือดยังไม่แข็งตัวเต็มที่ การให้ยาละลายลิ่มเลือดจะมีประสิทธิภาพที่สุด ลดความเสี่ยงการสูญเสียการทำงานของสมองจากการขาดเลือดได้น้อยที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นกลับสู่สภาวะปกติได้มากที่สุด การรักษาหลอดเลือดสมองโดยวิธี Mechanical Thrombectomy เป็นการนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมองออกผ่านทางสายสวน เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองได้ เป็นหัตถการที่ต้องใช้ความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางและมีความละเอียดสูง แพทย์จะเห็นพยาธิสภาพของหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมากผ่านเครื่องเอกซเรย์สำหรับใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาระบบหลอดเลือดโดยเฉพาะ ใช้เวลาน้อย ภาพที่ได้มีรายละเอียดและความคมชัดสูง ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงน้อยลง และการรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใส่สายสวนหลอดเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือดจะมีประสิทธิภาพดีควรทำภายใน 8 ชม.

          การรักษาภาวะหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ได้แก่ การฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (rt-PA)  ภายใน 4.5 ชม. และการใส่สายสวนหลอดเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือด ภายใน 8 ชม.

ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง

ศูนย์โรคระบบประสาทและสมอง

สถานที่

เวลาทำการ

เบอร์ติดต่อ

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์